วันอังคารที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2555

สับประรดเพชรบุรี กินง่ายโดยไม่ต้องปอกเปลือก

สับประรดเพชรบุรี
โอ้พระเจ้ากล้วย  มาช่วยทอด ฮ่า ๆ  พิมพ์ผิด  พิมพ์ถูกไปหมดล่ะครับ  เพิ่งรู้ครับว่ามีสับประรดแบบที่ไม่ต้องปลอกเปลือกด้วย !    กินกันยังกะน้อยหน่าเลยครับ  สับประรดพันธุ์ที่ว่านี้ คือ สับประรดเพชรบุรี นี่เอง  หรือพันธุ์ดั้งเดิมมาจาก  ไทนาน41 คร๊าาบ   เอ๊าเรามารู้จักกับบักนัสเพรชบุรีเลย เด้อครับ



ความเป็นมาของสับประรดเพชรบุรี

สับปะรด “พันธุ์เพชรบุรี” เป็นการรวบรวมและศึกษาพันธุ์สับปะรดในประเทศและต่างประเทศ  โดยศูนย์วิจัยพืชสวนเพชรบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 กรมวิชาการเกษตร  ซึ่งได้รับมติรับรองคณะกรรมการการวิจัยและพัฒนากรมวิชาการเกษตรว่าเป็น  พันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตร ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2541 โดยนำพันธุ์มาจากประเทศไต้หวัน เดิมชื่อว่า พันธุ์ไทนาน41

ลักษณะของสับปะรดพันธุ์เพชรบุรี 

ต้น ทรงต้นจะมีลักษณะเป็นพุ่มแบบ rosette คล้ายกันกับพันธุ์อื่นๆ ในกลุ่มควีน มีการแตกหน่อตั้งแต่ผลเริ่มแก่ทั้งหน่อดิน (ground sucker) และหน่ออากาศ (aerial sucker) โดยเฉลี่ยประมาณ 3 หน่อ ประมาณ 1 หน่อ ตามลำดับ

ใบ ลักษณะค่อนข้างสั้นกว่าพันธุ์ปัตตาเวีย สีใบเขียวอ่อนและมีสีแดงอมม่วงปนอยู่มากบริเวณกลางใบโดยเฉพาะถ้าปลูกกลางแจ้ง พบว่ามีหนามที่ขอบใบสม่ำเสมอตลอดทั้งใบทุกใบ ลักษณะหนามจะเป็นรูปตะขอม้วนข้นไปหาปลายใบอย่างสม่ำ
เสมอ จำนวนใบรวมต่อต้นโดยเฉลี่ยประมาณ 81 ใบ



ดอก ดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกสีน้ำเงินจนถึงม่วง จำนวนดอกย่อยต่อผลโดยเฉลี่ย 93 ดอก



ผล   ผลมีขนาดปานกลาง น้ำหนักผลโดยเฉลี่ยประมาณ 1,000 กรัม ทรงผลจะเป็นลักษณะทรงเจดีย์ คือ ด้านล่างของผลจะใหญ่ บริเวณปลายจะคอดเล็ก และมักพบว่าตาผลบริเวณส่วนปลายผลติดกับจุกจะไม่พัฒนาประมาณ 3-5 รอบ แต่อาจพบทรงผลตรงส่วนบริเวณปลายผลที่ติดกับจุกไม่คอดได้เหมือนกัน ผลย่อยหรือตาผลค่อนข้างใหญ่ และพองนูนเล็กน้อย ตาผลลึกปานกลาง ผลแก่เปลือกจะมีสีเขียวเข้ม และเมื่อสุกจะมีสีเหลืองอมส้ม ส่วนสีเนื้อจะมีสีเหลืองอมส้มสม่ำเสมอ ส่วนบนของผลจะมีจุกที่มีสัดส่วนเล็กกว่าผลมาก และมักพบหน่อตะเกียงบนก้านผล ประมาณ 2-3 หน่อ เสมอ



  รสชาติ  มีรสชาติหวานแหลมอมเปรี้ยว เนื้อกรอบและฉ่ำน้ำปานกลาง กลิ่นหอมจัด มีความหวาน (ปริมาณ Soluble solids) โดยเฉลี่ย 16.9% และปริมาณกรด 0.45% มีเส้นใยมาก จึงเหมาะสำหรับบริโภคผลสด
         

           การปลูกสับประรดพันธุ์เพชรบุรี จะปลูกเหมือนกับสับประรดทั่ว ๆ ไป แต่เนื่องจากสับประรดพันธุ์นี้ต้องรับประทานผลดิบ  จึงมีวิธีการอื่นที่แตกต่างกันไปดังนี้

            การคัดแยกหน่อ การคัดหน่อโดยการแยกตามน้ำหนัก ได้แก่ หน่อขนาดเล็กหรือหน่อที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 200 กรัม  หน่อขนาดกลาง หรือ หน่อที่มีน้ำหนักระหว่าง 200-400 กรัม และหน่อขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 400 กรัมขึ้นไป  ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งหน่อดิน หน่ออากาศ และหน่อตะเกียง เมื่อคัดแยกหน่อตามขนาดแล้วจากนั้นให้แบ่งแปลงปลูกตามขนาดของหน่อด้วยเช่นเดียวกัน

            การคัดเลือกหน่อพันธุ์ สำหรับสับปะรดพันธุ์นี้ควรคัดเลือกลักษณะทรงผลหรือผลที่มีตาสมบูรณ์น้อยกว่าตาที่ไม่พัฒนา ดังนั้นหากต้องการขยายเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกจะต้องใช้หน่อพันธุ์จากต้นพันธุ์ที่มีผลยาวหรือตาย่อยบริเวณปลายผลผลิตกับจุกไม่พัฒนาเพียง 2-3 รอบ (จำนวนรอบยิ่งน้อยยิ่งดี) เป็นพันธุ์ปลูก

            ระยะปลูก การปลูกแบบแถวคู่ ระยะปลูก 25x50x100 ซม. ซึ่งจะได้จำนวนต้นประมาณ 8,000 ต้น แต่หากต้องการให้ได้ผลขนาดใหญ่ควรลดจำนวนต้นให้เหลือประมาณ 5,000-6,000 ต้นต่อไร่ โดยเพิ่มระยะห่างระหว่างต้นจากเดิม 25 ซม.เป็น 30-40 ซม. และระยะระหว่างแถวเป็น 80 ซม.

            การบำรุงดินและให้ปุ๋ย เพื่อให้คุณภาพผลผลิตคงที่ต้องมีการใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักบำรุงดิน อัตรา 1-2 ตันต่อไร่ หลังจากปลูกครบ 2 รอบ หรือ ประมาณ 4 ปีต่อครั้ง ควรเลือกใช้ปุ๋ยที่ตรงกับความต้องการของสับปะรด ซึ่งจะมีสัดส่วนของธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม เท่ากับ 3 : 1 : 4  หรือใกล้เคียงเช่น 12-6-15 หรือ 13-13-21 เป็นต้น โดยใช้อัตรา 50 กรัมต่อต้น และหากต้องการให้คุณภาพดียิ่งขึ้นอาจใช้ปุ๋ยน้ำที่มีสัดส่วนของธาตุโพแทสเซียมสูงเสริมในระยะหลังดอกบานหมดแล้ว ประมาณ 1 เดือน ก็ได้

            การบังคับดอก เพื่อให้ได้ผลที่มีขนาดประมาณ 1.8-2 กก. ควรบังคับดอกเมื่อต้นสับปะรดมีน้ำหนักประมาณ 2.5-2.8 กก. สำหรับวิธีการบังคับดอกนั้นจะใช้สารเอทธิฟอน (ethephon) อัตรา 100 พีพีเอ็ม (ส่วนในล้านส่วน) ผสมปุ๋ยยูเรีย 2% ไนโตรเจน นำสารละลายที่ได้หยอดที่ยอด อัตรา 50 มล. ครั้งเดียว หรือใช้ถ่านแก๊สหยอดในช่วงเวลาเช้าหรือเย็น 2-3 ครั้ง ตามวิธีปฏิบัติโดยทั่วไปก็ได้

           การเก็บเกี่ยว ระยะเวลาในการพัฒนาของผลตั้งแต่บังคับให้ออกดอกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 126 วัน หรือใช้เวลาตั้งแต่ดอกสุดท้ายบานจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 68 วัน ผลสับปะรดที่แก่พร้อมเก็บเกี่ยวให้สังเกตจากสีผิวเปลือกจากสีเขียวเป็นสีเหลืองประมาณ 10-20% ในช่วงฤดูฝน แต่หากเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้งควรเก็บเกี่ยวเมื่อสีเปลือกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองตั้งแต่ 25% ขึ้นไป

            การจัดการสับปะรดหลังการเก็บผล ควรเก็บหน่อที่อยู่ติดกับดินหรือโคนต้นเป็นหลัก พร้อมทั้งตัดแต่งใบออกบ้างตามความเหมาะสม  เพื่อให้มีผลที่มีขนาดมาตรฐาน  จากนั้นให้จัดการเก็บหน่อที่มีมากเกินไปออกโดยเฉพาะหน่อที่อยู่ส่วนบนของต้น หรือ หน่ออากาศ

            ถึงแม้ว่าสับปะรดพันธุ์นี้จะมีลักษณะเด่นที่เหมาะสำหรับรับปะทานสด และทานง่าย รสชาติก็ถูกปาก (จากการสำรวจข้อมูลการทดสอบคุณภาพในงานมหกรรมพืชสวนโลก พบว่า ผู้ชิมกว่า 90% พึงพอใจในรสชาติ)  แต่ยังมีพื้นที่ในปลูกไม่แพร่หลายมากนักโดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ จ.เพชรบุรี ผลผลิตจึงอยู่ในวงจำกัดเท่านั้น  ดังนั้นหากมีการประชาสัมพันธ์จุดเด่นของสับปะรดพันธุ์นี้ให้เป็นที่ต้องการของตลาดให้มากขึ้น  และมีการส่งเสริมการปลูกไปด้วยพร้อมๆ กัน  สับปะรดพันธุ์เพชรบุรีนี้อาจมาแรงแซงหน้าสับปะรดพันธุ์อื่นๆ ก็เป็นได้

1 ความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม